การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์สำหรับการค้าปลีก: ปกป้องข้อมูลลูกค้าของคุณ
ในตอนนี้คงไม่มีเรื่องไหนบนโลกออนไลน์ร้อนแรงไปกว่าเรื่องการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์แล้ว ด้วยการโจมตีทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นวันละ 2,000 ครั้งทำให้ธุรกิจที่อยู่บนโลกออนไลน์ต้องระวังตัวอยู่เสมอ
จริงอยู่ว่าธุรกิจทุกประเภทต่างก็ตกเป็นเป้าได้ง่ายเหมือนกันทั้งหมด แต่ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์จำเป็นต้องระวังตัวเป็นพิเศษ เพราะเป็นธุรกิจที่มีอะไรหลายอย่างล่อตาล่อใจบรรดาอาชญากรทางไซเบอร์ เป้าหมายใหญ่ของอาชญากรย่อมหนีไม่พ้นเรื่องเงิน เมื่อมีร้านค้าออนไลน์ก็หมายความว่ามีเงินไหลจากลูกค้ามาหาผู้ขาย และอาชญากรก็อยากได้ส่วนแบ่งเงินนี้ด้วย สิ่งล่อตาล่อใจอาชญากรอีกสิ่งก็คือข้อมูล
แม้ว่าร้านค้าปลีกออนไลน์ส่วนใหญ่จะส่งต่อข้อมูลรายละเอียดการชำระเงินไปยังหน่วยงานบุคคลที่สามไม่ได้เก็บไว้เอง แต่อาชญากรก็มองว่าแค่แฮ็คเอาที่อยู่อีเมลกับรหัสผ่านมาได้ก็ถือว่าคุ้มค่าแล้ว แน่นอนว่าอันตรายเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับร้านค้าออนไลน์เท่านั้น เพราะร้านค้าปลีกแบบขายผ่านหน้าร้านในปัจจุบันก็ต้องอาศัยการเชื่อมต่อออนไลน์มากกว่าที่ผ่านมา
ไม่ว่าจะเป็นระบบเช็คสินค้าคงคลังหรือระบบ POS ทำให้ธุรกิจกลุ่มนี้ตกอยู่ในความเสี่ยงได้เช่นกันถ้าไม่มีการป้องกันที่ดีพอ สุดท้ายแล้วร้านค้าปลีกออฟไลน์ก็เป็นที่ล่อตาล่อใจอาชญากรไม่ต่างจากร้านออนไลน์ เพราะมีทั้งการทำธุรกรรมการเงิน การเก็บข้อมูลของลูกค้าไว้ในรูปแบบบัตรสะสมแต้ม อีเมลใบเสร็จ และระบบไฮเทคอื่นๆ ซึ่งอาชญากรนำไปใช้หาประโยชน์ได้ไม่ต่างกัน
การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของร้านค้าปลีกเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
วิธีรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับร้านค้าปลีกที่ง่ายที่สุดก็คือการตัดการเชื่อมต่อออกให้หมด ใช้ POS แบบทำงานแยกเดี่ยวไม่มีการเชื่อมต่อใดๆ ทั้งสิ้น แล้วทำป้ายราคาด้วยเครื่องพิมพ์สติ๊กเกอร์แบบดั้งเดิม วิธีนี้อาจช่วยได้แต่ก็นำมาใช้จริงไม่ได้
การที่ร้านสักแห่งจะไม่ยอมเข้าสู่โลกออนไลน์นั่นหมายความว่ากำลังปิดกั้นตัวเองจากโลกที่ลูกค้าส่วนใหญ่ใช้เป็นช่องทางจับจ่ายใช้สอยกันจนคุ้นชิน แทนที่จะตัดร้านตัวเองออกจากโลกภายนอก ควรหันมาใช้เทคโนโลยีอย่างระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยจะดีกว่า ดังนั้นร้านค้าปลีกจึงควรนำระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มักใช้ในระบบออนไลน์ มาใช้กับระบบการทำงานออฟไลน์ของตน เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้ธุรกิจออฟไลน์รับมือกับการโจมตีได้ดีกว่าเดิมชนิดหน้ามือเป็นหลังมือแล้ว
เรื่องท้าทายสำหรับเจ้าของธุรกิจค้าปลีก
เรื่องท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของธุรกิจค้าปลีกออฟไลน์อาจเป็นเพียงแค่ว่าพวกเขาไม่คุ้นเคยกับโลกออนไลน์เท่านั้น จริงอยู่ว่ามีร้านค้าปลีกออฟไลน์หลายเจ้าที่มีหน้าร้านหลายสาขาและดำเนินการผ่านระบบออนไลน์อยู่ แต่ก็มีธุรกิจค้าปลีกขนาดย่อมบางแห่งที่มีหน้าร้านออฟไลน์เพียงสาขาเดียวหรือไม่กี่สาขาอยู่ด้วยเช่นกัน ร้านเหล่านี้อาจไม่ได้ออนไลน์แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ทั้งหมด เพราะในการชำระเงินลูกค้ามักต้องการชำระเงินแบบไร้การสัมผัสและยอมให้ใส่ชื่อลงในข้อมูลรายชื่อลูกค้าอีกด้วย ร้านค้าออฟไลน์จึงได้ข้อมูลต่างๆ ไปเป็นจำนวนมากกว่าแต่ก่อน แม้ว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ทำการตลาดง่ายขึ้น แต่ก็เป็นเหตุให้ตกเป็นเป้าของอาชญากรด้วย
วิธีการปกป้องข้อมูลของลูกค้า
ข้อมูลที่ไหลทะลักเข้ามาอาจพลิกโฉมธุรกิจต่างๆ ได้ถ้าเจ้าของและผู้จัดการเปิดใจนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรร้านค้าที่มีหน้าร้านก็ต้องรับผิดชอบดูแลข้อมูลของลูกค้าให้ปลอดภัยเช่นเดียวกับร้านออนไลน์ ทำให้ร้านค้าทั้งสองแบบต้องเจอกับเรื่องท้าทายในลักษณะเดียวกัน ชื่อเสียงที่สั่งสมมาอาจพังทลายลงไปทันทีที่ตกเป็นข่าวว่าถูกเจาะข้อมูลได้สำเร็จ และยิ่งเป็นร้านค้าปลีกที่ต้องอาศัยฐานลูกค้าเป็นสำคัญ ความผิดพลาดร้ายแรงเพียงครั้งเดียวนั้นก็อาจทำให้ธุรกิจเสียหายหนักได้ โชคดีที่เจ้าของกิจการสามารถป้องกันตัวเองในการนำระบบออนไลน์มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจค้าปลีกออฟไลน์ได้ โดยปฏิบัติดังต่อไปนี้:
ตรวจสอบให้แน่ใจว่าระบบ POS ได้รับการอัพเดทเป็นเวอร์ชั่นใหม่ล่าสุด
ธุรกิจบางแห่งยังคงใช้ระบบ POS แบบกลไกอยู่ ซึ่งถ้าไม่นับการถูกขโมยเงินจากร้านไปโดยตรงก็ถือว่าปลอดภัยมาก แต่ระบบ POS ส่วนใหญ่ก็เริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดกันแล้ว ทำให้จำเป็นต้องอัพเดทแบบไร้สายเป็นประจำด้วย การอัพเดทซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่จะเป็นการปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยเช่นเดียวกันกับการอัพเดทเว็บไซต์และระบบหน้าร้านออนไลน์ ดังนั้นการรับและติดตั้งเฟิร์มแวร์ใหม่จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยป้องกันธุรกิจค้าปลีกได้
อบรมพนักงานให้ดีเพื่อป้องกันความผิดพลาดจากมนุษย์
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าหนักใจก็คือ การที่ข้อมูลรั่วไหลไปได้ส่วนใหญ่เกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ โดยการรั่วไหลของข้อมูลในโลกออนไลน์เกิดจากสาเหตุนี้ถึง 90% ถ้าเจ้าของกิจการไม่ได้ดูแลหน้าร้านด้วยตัวคนเดียว ก็จำเป็นต้องทำให้มั่นใจได้ว่าพนักงานรู้วิธีการปฏิบัติที่ดีที่สุดตามที่กำหนดไว้ในนโยบายของร้าน อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือพนักงานต้องเข้าใจว่าการรั่วไหลของข้อมูลเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง ดังนั้นการฝึกอบรมพนักงานให้ดีจะตอบโจทย์เหล่านี้ได้อย่างครบถ้วน
ใช้นโยบายไม่ไว้ใจใครโดยเด็ดขาด
หนึ่งในเรื่องที่ท้าทายที่สุดในโลกธุรกิจก็คือการไม่ไว้ใจใครเลยแม้แต่คนเดียวมักเป็นความคิดที่ดี ผู้ที่ทำงานในหน้าร้านค้าปลีกเดียวกันมักสนิทสนมกันดี แต่เจ้าของร้านก็จำเป็นต้องประเมินว่าใครควรเข้าถึงข้อมูลส่วนไหนได้บ้าง พนักงานที่มีหน้าที่เติมสินค้าบนชั้นไม่จำเป็นต้องเปิดดูที่อยู่อีเมลหรือข้อมูลอื่นๆ ของลูกค้า ผู้ที่บริหารจัดการข้อมูลเหล่านี้จะต้องป้องกันไม่ให้มีใครเข้าถึงข้อมูลเกินความจำเป็นได้ ซึ่งนี่จะช่วยให้ข้อมูลของร้านค้าปลีกรั่วไหลได้ยากขึ้น
คอยติดตามตรวจสอบทราฟฟิกของเครือข่าย
ร้านค้าปลีกออนไลน์สร้างข้อมูลปริมาณมหาศาลอยู่ทุกวันจนตามดูไม่หวาดไม่ไหว แต่ร้านค้าปลีกออฟไลน์ไม่ได้มีข้อมูลมากมายขนาดนั้นจึงสามารถติดตามดูอย่างใกล้ชิดได้ เรื่องง่ายๆ อย่างการติดตามตรวจสอบไฟล์วอลว่ามีคนจากภายนอกพยายามเข้าถึงระบบส่วนในไหม ก็เพียงพอต่อการปกป้องสิ่งสำคัญอย่างข้อมูลของลูกค้าแล้ว โชคดีที่หน้าร้านค้าปลีกจะสังเกตเห็นความผิดปกติได้ง่าย เนื่องจากมักไม่จำเป็นต้องอนุญาตให้มีการเชื่อมต่อระบบจากทางไกล หรือมีการโต้ตอบแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิตอลใดๆ กับภายนอกเลย
สรุปส่งท้าย
แม้กระทั่งธุรกิจที่ไม่ได้ดำเนินการออนไลน์เป็นหลักก็ยังต้องมีระบบบางส่วนอยู่บนโลกออนไลน์ และต้องอาศัยระบบการเชื่อมต่อเพื่อสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า ดังนั้นแม้ว่าเจ้าของกิจการและผู้จัดการจะมองว่าระบบเหล่านี้เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของระบบทั้งหมด แต่นั่นก็เพียงพอต่อการตกเป็นเป้าหมายของอาชญากรแล้ว โชคดีที่การเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์อย่างจำกัดนี้ ช่วยให้การป้องกันที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนก็เพียงพอต่อการรักษาความปลอดภัยให้กับข้อมูลของลูกค้าและระบบเครือข่ายแล้ว อย่างไรก็ดีสิ่งที่ไม่ควรทำโดยเด็ดขาดคือการคิดไปเองว่าตนไม่มีทางถูกโจมตีได้สำเร็จ คำแนะนำที่บรรยายไว้ข้างต้นจะช่วยให้ร้านค้าปลีกพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น และไม่เกิดความเสียหายร้ายแรงจากการโจมตีออนไลน์ในที่รูปแบบที่พบได้บ่อย ติดต่อเราวันนี้ เรายินดี !