ยิ่งโลกเป็นดิจิตอลมากขึ้นความเป็นส่วนตัวยิ่งน้อยลง เมื่อความเป็นส่วนตัวบนโลกดิจิตอลกลายเป็นสิ่งมีค่า แล้วคุณจะปกป้องความเป็นส่วนตัวไว้ได้อย่างไร
ถ้าคุณไม่มีกิจวัตรประจำวันอะไรในโลกออนไลน์เลย ก็จัดว่าคุณเป็นหนึ่งในคนส่วนน้อยที่กำลังค่อยๆ ลดหายไป แต่ในทางกลับกัน ทันทีที่คุณทำอะไรในโลกออนไลน์ บริษัทผู้ให้บริการก็จะเก็บข้อมูลการทำกิจกรรมของคุณไว้เพื่อนำมาใช้สร้างชุดข้อมูลเกี่ยวกับตัวคุณขึ้นมา
ไม่เพียงแต่กับฐานลูกค้าทั้งหมดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบุคคลด้วย กิจกรรมที่ถูกนำไปใช้ไม่จำเป็นต้องเป็นกิจกรรมเฉพาะทางใดๆ เพียงแค่คุณชำระค่าบริการแบบไม่ต้องสัมผัสหรือรูดบัตรสะสมแต้ม บริษัทก็ได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณแล้ว แม้ว่าจะมีแอพมาแทนที่แต่ทุกวันนี้ยังคงมีการใช้บัตรสะสมแต้มอยู่มากมาย บัตรเหล่านี้ถูกออกแบบมาตั้งแต่แรกเริ่มให้เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ร้านค้ารู้พฤติกรรมการซื้อสินค้าของคุณมากขึ้น โดยไม่ใช่แค่รู้ข้อมูลฐานลูกค้าโดยรวมเท่านั้น แต่รู้ข้อมูลเป็นรายบุคคลเลยทีเดียว
อินเตอร์เน็ตทำให้การรวบรวมข้อมูลเหล่านี้รุนแรงขึ้นไปอีก บริษัทไม่ว่าจะขนาดเล็กใหญ่หรืออยู่ในอุตสาหกรรมไหน ต่างก็หาประโยชน์จากข้อมูลบนโลกจริงของลูกค้าที่มีอยู่และผู้ที่อาจมาเป็นลูกค้ากันทุกราย ดูอย่าง Facebook ก็สามารถยิงโฆษณาไปยังแต่ละกลุ่มความสนใจ ระดับรายได้ หรือกลุ่มอายุได้อย่างจำเพาะเจาะจง และทุกครั้งที่คุณสั่งอาหารที่ร้านด้วยรหัส QR เจ้าของร้านจะรู้ได้ว่าคุณชอบทานอะไรและเสนอสินค้าที่เจาะจงสำหรับคุณโดยเฉพาะได้
ลูกค้าอาจชื่นชอบความสะดวกสบายของบริการเหล่านี้ แต่ก็ต้องยอมแลกด้วยความเป็นส่วนตัว จึงทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า “ข้อมูลส่วนตัวของคุณมีมูลค่าแค่ไหน”
มูลค่าของความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์
ถ้าว่ากันเป็นเม็ดเงินโดยตรง ข้อมูลส่วนตัวของใครสักคนก็ไม่ได้มีมูลค่าอะไรมากมาย ข้อมูลพฤติกรรมของคนหนึ่งคนที่ผู้ให้บริการต่างๆ และโซเชียลมีเดียติดตามบันทึกไว้มีมูลค่าในตลาดเสรีต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ ซึ่งแน่นอนว่าเราหมายถึงข้อมูลที่ผู้ใช้ยอมให้เก็บอย่างถูกกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้พูดถึงเลขบัตรเครดิตหรือรายละเอียดประกันสังคมที่มีมูลค่าสูงกว่านั้นมาก
อย่างไรก็ตามราคาที่ตกลงซื้อขายกันนี้ ไม่ว่าจะเป็นราคาข้อมูลบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือข้อมูลของหลายคนรวมกัน ก็ไม่ได้สะท้อนถึงมูลค่าที่ข้อมูลเหล่านี้มีต่อบริษัทผู้เก็บข้อมูลเลย ยกตัวอย่าง เช่น รายได้หลักของ Facebook มาจากการโฆษณาเกือบทั้งหมด ซึ่งถ้าไม่มีข้อมูลของลูกค้าปริมาณมหาศาลและเครื่องมือเลือกกลุ่มเป้าหมายที่โด่งดังของ Facebook แล้ว รายได้เหล่านี้จะก็หดหายไปเกือบหมด
บัตรสะสมแต้มก็มีมูลค่าขึ้นมาจากข้อมูลจำเพาะบุคคลด้วยเช่นกัน เมื่อบริษัทรู้ว่าคุณซื้ออะไรและเมื่อไรก็จะสามารถโฆษณาเจาะจงตัวคุณได้ในอนาคต ทางบริษัทไม่จำเป็นต้องพิมพ์คูปองที่คุณไม่คิดจะใช้ออกมา และไม่ต้องเสียทรัพยากรอย่างเปล่าประโยชน์ไปกับการเกลี้ยกล่อมให้คนซื้อสินค้าที่เขาไม่อยากได้
ปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวนี้รุนแรงหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเครื่องใช้ในบ้านที่เชื่อมต่อเข้ากับอินเตอร์เน็ตหรือ IoT ได้รับความนิยมมากขึ้น ทุกวันนี้ในบ้านของหลายคนมีอุปกรณ์ที่รู้รสนิยมทางดนตรีของเจ้าของมากกว่าตัวเจ้าของเองเสียอีก แถมยังพร้อมแนะนำให้เจ้าของซื้อสินค้าบางอย่างซ้ำอยู่ทุกเมื่ออีกต่างหาก โชคไม่ดีที่ผู้คนมักไม่สนใจว่าอุปกรณ์เหล่านี้และบริษัทที่อยู่เบื้องหลัง เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้คนไปมากขนาดไหน และส่งผลกระทบต่อความเป็นส่วนตัวของข้อมูลกับความปลอดภัยของข้อมูลอย่างไร
ทำไมจึงต้องใส่ใจกับเรื่องนี้
ผู้อ่านบางคนอาจคิดว่าโดนบริษัทเหล่านี้เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนตัวไปสร้างเป็นชุดข้อมูลก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร ตราบใดที่ได้ใช้เทคโนโลยีและได้รับความสะดวกสบายก็ถือว่าคุ้มค่า อย่างไรก็ตาม
อย่างที่เราได้บอกไปแล้วว่าข้อมูลของคุณคิดมูลค่าเป็นเม็ดเงินได้เพียงเล็กน้อย แต่ก็มีคุณค่ามหาศาลต่อบริษัทผู้เก็บข้อมูล แถมธุรกิจบางแห่งก็อยู่ได้ด้วยการเก็บข้อมูลเหล่านี้และเก็บข้อมูลไปฟรีๆ อีกต่างหาก ทำให้จากที่เคยต้องถามว่าจะแลกข้อมูลส่วนตัวเพื่อใช้เทคโนโลยีต่างๆ ดีไหม กลายเป็นถามว่าจะปล่อยให้บริษัทเหล่านี้หาประโยชน์จากข้อมูลของเราฟรีๆ หรือ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการซื้อ งานอดิเรก ความสนใจ หรืออะไรก็ตาม ข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้ก็ถือเป็นสินค้าทั้งหมด คุณจึงไม่ควรยกสินค้าเหล่านี้ไปให้ใครฟรีๆ ซึ่งโชคดีที่คุณไม่จำเป็นต้องยกข้อมูลนี้ให้กับใคร และมีวิธีการง่ายๆ ที่ใครก็ทำได้ที่จะช่วยให้คุณรักษาความเป็นส่วนตัวและท่องโลกออนไลน์ได้อย่างแทบนิรนามไม่มีตัวตนให้ติดตาม
เปลี่ยนโลกออนไลน์ให้มีความเป็นส่วนตัวและนิรนามมากยิ่งขึ้น
คุณอาจเป็นคนที่ไม่อยากให้ข้อมูลส่วนตัวกับใคร หรือไม่คุณก็อาจเป็นคนที่เห็นมูลค่าของข้อมูลส่วนตัวที่ไม่ได้มีปัญหาอะไรถ้าบริษัทไหนจะมารู้พฤติกรรมของคุณ แต่ก็ไม่อยากให้บริษัทเหล่านั้นมาเอาข้อมูลคุณไปฟรีๆ วิธีการที่ตอบโจทย์คุณได้คือการสร้างนิสัยในการท่องอินเตอร์เน็ตอย่างนิรนาม ซึ่งสามารถทำได้ไม่ยาก แค่ปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้ คุณก็จะรักษาข้อมูลและความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ของคุณไว้ได้ตามต้องการ
ใช้คอมมอนเซนส์เมื่อต้องให้ข้อมูล
ข้อมูลส่วนใหญ่ที่บริษัทเหล่านี้ใช้หากำไรเป็นข้อมูลที่คุณให้ไปเอง เมื่อคุณกดไลค์ที่โพสต์หรือดูวิดีโอบนโซเชียลมีเดีย เครือข่ายก็จะบันทึกข้อมูลไว้ เมื่อระบบรู้แล้วว่าคุณชอบอะไรก็จะแสดงของที่คุณชอบถี่ขึ้น หลักการสำคัญก็คือคุณต้องใส่ใจมากขึ้นว่าการกระทำของคุณเป็นการบอกข้อมูลอะไรไปบ้าง คุณต้องท่องโลกออนไลน์โดยเข้าใจว่าไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็จะถูกใครสักคนเก็บข้อมูลไปสร้างเป็นชุดข้อมูลเกี่ยวกับตัวคุณขึ้นมา นอกจากนี้ถ้าคุณต้องการความเป็นส่วนตัวและนิรนามยิ่งขึ้น ก็ห้ามให้ชื่อจริง ที่อยู่อีเมล หรือข้อมูลอื่นๆ ที่ระบุตัวตนของคุณได้กับใครโดยไม่ยั้งคิด
ตัดสินใจว่าจะให้ข้อมูลอะไรเป็นกรณีไป
คุณคิดว่าที่อยู่อีเมลหลักของคุณมีมูลค่าหรือไหม เราบอกได้เลยว่ามี เพราะนี่เป็นสายตรงที่ติดต่อคุณได้ และคนค้าขายล้วนชอบโอกาสติดต่อโดยตรงแบบนี้กันทั้งนั้น จริงอยู่ว่าคุณไม่สามารถมีตัวตนบนโลกออนไลน์ได้โดยไม่แจ้งชื่อหรือข้อมูลติดต่อให้ใครเลย แต่ก่อนที่คุณจะบอกข้อมูลเหล่านี้ให้กับใคร ก็ต้องชั่งใจให้ดีก่อนว่าสิ่งที่คุณจะได้รับกลับมานั้นคุ้มค่าหรือไม่ ถ้าคุ้มก็บอกข้อมูลไป แต่ถ้าไม่คุ้มก็อย่าบอก หรือไม่ก็สร้างอีเมลสำรองไว้ใช้ในกรณีนี้เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของอีเมลหลักไว้
ใช้ VPN เพื่อปกปิดพฤติกรรมการท่องอินเตอร์เน็ตของคุณ
ไม่ว่าใครก็ตามที่เคยสนใจเรื่องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์เพียงสักนิดก็จะรู้ว่า VPN คืออะไร แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะรู้ข้อดีของบริการนี้เสมอไป และเราเชื่อว่าการใช้ VPN จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนที่ทำกิจกรรมในโลกออนไลน์ บริการ VPN ไม่ได้มีประโยชน์แค่ไว้ใช้ดู Netflix ของประเทศอื่น เมื่อคุณเปิดใช้ VPN ก่อนเริ่มท่องอินเตอร์เน็ตก็จะทำให้ผู้เก็บรวบรวมข้อมูลไม่รู้ที่อยู่ที่แท้จริงของคุณ ติดตามคุณจากหมายเลข IP ไม่ได้ และทำให้คุณเหมือนกลายเป็นคนอื่นไปเลย แม้กระทั่ง ISP เองก็ไม่รู้ว่าคุณทำอะไรไปบ้าง ดังนั้นถ้าคุณต้องการปกปิดกิจกรรมออนไลน์ให้เป็นนิรนาม บริการ VPN คือคำตอบ
ไตร่ตรองให้ดีก่อนยอมรับคุกกี้
คนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการตลาดอาจไม่เคยได้ยินคำว่า “รีทาร์เก็ตติ้ง” ซึ่งถ้าคุณไม่รู้ว่ามันคืออะไรให้ลองนึกถึงตอนที่คุณแสดงความสนใจสินค้าอย่างหนึ่ง แล้วหลังจากนั้นไม่ว่าคุณจะหันไปทางไหนก็เจอแต่โฆษณาของผลิตภัณฑ์นั้นเต็มไปหมด นั่นคือคุณกำลังเจอกับการรีทาร์เก็ตติ้ง คุกกี้ไม่ได้เพียงแค่ทำให้สามารถรีทาร์เก็ตติ้งได้เท่านั้น แต่เป็นหัวใจสำคัญในการทำเลยทีเดียว คุณคงสังเกตเห็นแล้วว่าเว็บไซต์หลายแห่งขออนุญาตใช้คุกกี้ทันทีที่เข้าไป ซึ่งนั่นทำให้เกิดปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวขึ้น ในความเป็นจริงนั้นเว็บไซต์ส่วนใหญ่สามารถทำงานได้เป็นปกติโดยไม่ต้องใช้คุกกี้ เมื่อคุณปฏิเสธการใช้คุกกี้ ผลกระทบเดียวที่จะเกิดขึ้นก็คือเว็บไซต์เก็บรวบรวมข้อมูลได้ช้าลงเท่านั้น ซึ่งถือว่าดีต่อความเป็นส่วนตัวของคุณ
ชั่งใจเรื่องความคุ้มของสิ่งตอบแทนให้ดี
การจะบอกว่ายิ่งบริษัทได้ข้อมูลไปมากเท่าไรก็จะยิ่งทำกำไรได้มากขึ้นเท่านั้นก็อาจเหมารวมเกินไป แต่ก็ไม่ได้เกินไปจากความเป็นจริงสักเท่าไร เมื่อใครสักคนขอข้อมูลจากคุณ นั่นอาจหมายความว่าเขาจำเป็นหรือต้องการข้อมูลเหล่านั้นด้วยเหตุผลอะไรบางอย่าง ดังนั้นจึงต้องไม่ควรให้ข้อมูลไปโดยไม่ยั้งคิด เมื่อมีการขอที่อยู่อีเมลเพื่อแลกกับหนังสือแนะนำหรือซอฟต์แวร์อะไรบางอย่าง นั่นแปลว่าผู้ที่ขอมองว่าข้อมูลสำหรับติดต่อคุณมีค่ามากกว่าของฟรีที่ให้ไป ถ้าคุณได้รับของที่มีประโยชน์ก็ถือว่าคุ้มค่าที่จะแลก แต่ถ้าไม่ก็แปลว่าคุณให้ข้อมูลส่วนตัวของคุณไปโดยเปล่าประโยชน์ วิธีการนี้อาจไม่สามารถช่วยคุณได้ในทุกกรณี แต่ถ้ามีใครต้องการอะไรจากคุณ ให้พิจารณาให้ดีก่อนว่าคุณจะได้รับอะไรตอบแทน แล้วค่อยตัดสินใจว่าจะให้ข้อมูลส่วนตัวที่ระบุตัวตนของคุณได้ไปหรือไม่
สรุปส่งท้าย
หลายคนยังคงคิดว่าถ้าเราไม่มีอะไรต้องปิดบังก็ไม่มีอะไรต้องกลัว ซึ่งความคิดนี้ใช้ไม่ได้กับโลกออนไลน์สมัยใหม่ที่ข้อมูลคือทุกสิ่งทุกอย่าง แม้ว่าคุณจะเอาข้อมูลของตัวเองไปขายได้เป็นเงินไม่เท่าไร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าข้อมูลของคุณไม่มีค่า ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องยกให้ใครไปฟรีๆ ผู้ใช้งานเว็บไซต์ต้องปรับเปลี่ยนนิสัยให้รู้จักคุณค่าของข้อมูลส่วนตัว วิธีการต่างๆ ที่เราบอกไว้ข้างต้นจะช่วยให้คุณปกป้องความเป็นส่วนตัวของคุณได้เมื่อจำเป็น และคุณควรเลือกให้ข้อมูลส่วนตัวไปก็ต่อเมื่อได้สิ่งตอบแทนคุ้มค่าจริงๆ เท่านั้น ติดต่อเราวันนี้ ! เรายินดีให้คำปรึกษา